รากฐานที่ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับผีในพุทธศาสนา

รากฐานที่ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับผีในพุทธศาสนา พบว่า พุทธศาสนามีแนวคิดและให้ความสำคัญกับชีวิตหลังตาย โดยอธิบายผ่านหลักคำสอน คือ   
 ก. สังสารวัฏ ได้แก่ ชีวิตของมนุษย์มีลักษณะที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่สิ้นสุด ถ้าไม่สามารถจะทำให้เงื่อนไขของการเกิดสิ้นสุดได้ การที่บุคคลคนหนึ่งตายลง ไม่ถือว่า การตายนั้น เป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตตราบเท่าที่ยังมีกิเลส จะต้องมีการเกิดใหม่อีกเรื่อยไป ยกเว้นชีวิตของผู้กำจัดกิเลสให้หมดไปได้ คือ พระอรหันต์ แนวคิดลักษณะนี้ เรียกว่า สังสารวัฏ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ
              1. เหฏฐิมสงสาร คือ ภูมิชั้นต่ำเลว มีทุกข์มาก มีอยู่ 4 ภูมิ คือ นรก  เปรต อสุรกาย และเดียรัจฉาน
             2. มัชฌิมสงสาร ได้แก่ ภูมิชั้นกลางซึ่งเป็นภูมิชั้นดีมีสุขเป็นโลกีย์พอประมาณ มีอยู่ 7 คือโลกมนุษย์ และเทวโลกชั้นที่ 1-6
                3. อุปริมสงสาร ได้แก่ ภูมิชั้นสูง ซึ่งเป็นภูมิดีวิเศษ มีสุขมาก มีอยู่ 20 ภูมิ นับตั้งแต่พรหมโลกชั้นที่ 1-20
                ภูมิ หรือสถานที่อยู่เหล่านี้ ถูกกล่าวถึงในหลักฐานที่เป็นพระไตรปิฎกมากมาย เช่น เล่มที่ 26เล่มที่ 28 เล่มที่ 33 เล่มที่ 37 อาจกล่าวสรุปได้ง่ายๆ ว่า หลักฐานทางพุทธศาสนาได้ยอมรับว่า โลกของชีวิตหลังตายมีมากมายแบ่งเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงสุด สถานที่เหล่านี้ เป็นที่รองรับผู้ทำกรรมทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของพุทธในเรื่อง กรรม
              ข. กรรม พุทธศาสนาจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า กรรมวาที คือเชื่อว่า ทำดี ได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหรือ ทำดี ได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก การกระทำแต่ละอย่างของทุกคนจะต้องได้รับผลตอบแทนด้วยตนเอง คนอื่นจะมารับผลของการกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำดีหรือทำชั่ว โดยแบ่งประเภทของการกระทำ (กรรม) โดยทั่วไปออกเป็น 2 อย่าง คือ กรรมชั่ว (อกุศลกรรม) และกรรมดี (กุศลกรรม)
นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งแยกย่อยออก เช่น แยกตามหนทางที่เป็นเหตุให้ทำกรรมมี 3 อย่างคือ การกระทำทางกาย (กายกรรม) การกระทำทางวาจา (วจีกรรม) และการกระทำทางใจ(มโนกรรม) และแบ่งตามหลักเกณฑ์ที่กรรมจะให้ผล มีอยู่ 12 อย่างคือ
                1. กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน (ทิฐธรรมเวทนียกรรม)
                2. กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด (อุปปัชชเวทนียกรรม)
                3. กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป (อปราปรเวทนียกรรม)
                4. กรรมเลิกให้ผล (อโหสิกรรม) เป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรืออยู่ที่ความต้องการของมนุษย์
                5. กรรมที่ทำให้ไปเกิดใหม่ (ชนกกรรม)
                6. กรรมที่สนับสนุน หรือซ้ำเติมชนกกรรม (อุปัตถัมภกกรรม)
                7. กรรมที่ทำให้ชนกกรรมและอุปปีฬกกรรมแปรเปลี่ยนทุเลาเบาลง (อุปปีฬกกรรม)
                8. กรรมที่เข้าไปตัดผลของกรรมทั้ง 2 อย่างไม่ให้ส่งผล  (อุปฆาตกกรรม)
                9. กรรมหนักที่ให้ผลก่อน (ครุกกรรม) เช่น ฆ่าบิดามารดา พระอรหันต์ เป็นต้น
                10. กรรมที่ทำจนชินให้ผลรองลงมาจากครุกกรรม  (พหุลกรรม)
                11. กรรมที่ให้ผลเวลาใกล้ตาย ถ้าไม่มีกรรม 2 ข้อก่อนก็จะให้ผลทันทีที่มนุษย์ได้เสียชีวิตลง  (อาสันนกรรม)
                12. กรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อน ถ้าไม่ได้ทำกรรมอย่างอื่น ก็ให้ผลได้ (กตัตตากรรม)
                กรรมหรือการกระทำทุกอย่างที่จัดว่าเป็นกรรม จะต้องประกอบด้วย เจตนา ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญในฐานะเกณฑ์ที่นำมาพิจารณาด้วยทุกครั้ง ดังพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรา (ตถาคต) กล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
                อีกนัยหนึ่ง กรรม หรือหลักกรรม จัดว่าเป็นกฎแห่งธรรมชาติ ภาษาบาลีเรียกว่า นิยาม แปลว่า กฎเกณฑ์ที่กำหนดแน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน มี 5 อย่างคือ
                1. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ เช่น ลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก เป็นต้น มีความผันแปรไปตามธรรมดา
                2. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์  เช่น มะม่วง ย่อมออกผลมาเป็นมะม่วง
               3. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่อตากระทบกับรูป จิตก็จะเป็นตัวปรุงแต่งต่อไปว่า ดี ไม่ดี สวย ไม่สวย เป็นต้น
               4. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ หรือการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ที่ประกอบด้วยเจตนาซึ่งจะมีผลออกมาตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินของมนุษย์   
               5. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ หรือสิ่งที่เป็นธรรมดาที่เมื่อมีเหตุก็ย่อมมีผลติดตามมา เช่น คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา
                กฎแห่งธรรมดาทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันย่อมเป็นไปตามธรรมดาของมัน มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นระเบียบแบบแผนที่ให้ผลไปตามเงื่อนไขของเหตุปัจจัย
                หลักฐานที่รองรับการอธิบายกรรม พบว่า มีมากมาย เริ่มตั้งแต่เล่มที่ 4   กล่าวถึงบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก...
นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานในเล่มที่ 16 เล่มที่ 20 เล่มที่ 22  เล่มที่ 23 เล่มที่ 24 ที่พระพุทธเจ้าเน้นว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมเล่มที่ 25 เล่มที่ 26  เล่มที่ 27 เล่มที่ 28 เล่มที่ 30 เล่มที่ 33 และเล่มที่ 37 ต่างกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่ากรรมมีอยู่ ผลของกรรมมีอยู่ และให้ผลอย่างแน่นอนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า บุคคลนั้นทำกรรมอะไรไว้
                                ค. นรก โลกหลังการตาย ได้แก่ สถานที่ที่ปราศจากความเจริญ สภาพที่ปราศจากความสุข เป็นที่เสวยทุกข์ซึ่งเป็นผลมาจากการทำบาป หรือความชั่วที่ได้กระทำไว้ เป็นสภาพที่มีแต่ความเร่าร้อนเต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นเหวแห่งความทุกข์ ที่ไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย, ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป  หรือภูมิที่เสวยทุกข์ของคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิด แดนหรือภูมิที่เชื่อกันว่าผู้ทำบาปจะต้องไปเกิดและถูกลงโทษ พุทธศาสนาได้กล่าวถึงนรกไว้ในฐานะเป็นสถานที่รองรับหรือที่อยู่ของผู้ที่ทำกรรมชั่ว พบหลักฐานในขุททกนิกาย ชาดกว่ามีอยู่ 8 ขุม  คือ
1. สัญชีวนรก นรกที่นายนิรยบาลมีมือถืออาวุธอันมีแสงฟันสัตว์นรกทั้งหลายจนตายแล้ว ก็กลับฟื้นขึ้นได้อีกแล้วถูกฟันอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะหมดกรรม  
2. กาฬสุตตนรก สัตว์นรกจะถูกนายนิรยบาลตีด้วยเส้นเชือกดำแล้วถากหรือตัดด้วยเครื่องประหารมีขวาน จอบมีด เลื่อย
3. สังฆาตนรก นรกภูเขาเหล็กที่มีเปลวไฟบดสัตว์นรกให้จมลงไปในแผ่นดินมีประมาณแค่สะเอว สัตว์นรกจะถูกภูเขาเหล็กบดขยี้ร่างกายให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา
4. โรรุวนรก สัตว์นรกในขุมนี้จะร้องไห้อยู่ตลอดเวลาเพราะถูกควันไฟเข้าไปสู่ทวารทั้ง 9 เปลวไฟแลบเข้าหูซ้ายทะออกหูขวา เข้าปาก ตา จมูก ทวารหนัก ทวารเบา
5. มหาโรรุวนรก สัตว์นรกในขุมนี้จะร้องเสียงดังครวญครางอยู่ตลอดเวลาที่ถูกไฟนรกไหม้
6. มหาอเวจีนรก สัตว์นรกจะถูกไฟไหม้และจมอยู่ในกระทะน้ำที่เดือดพล่าน
7. ตาปนนรก สัตว์นรกในขุมนี้ จะถูกให้นั่งตรึงอยู่กับหลาวเหล็กไฟอันร้อนแดงไหม้อยู่ และถูกหลาวเหล็กเสียบไปทั่วร่างกาย
8. มหาปตาปนนรก สัตว์นรกที่อยู่ในขุมนี้จะถูกลากไปมาและเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยปฏัก...”  
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับนรก เป็นการยืนยันถึงชีวิตหลังความตายอันเกี่ยวเนื่องกับคำสอนเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) การเกิดใหม่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการกระทำของตนเองเป็นตัวผลักดัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำกรรมชั่วช้า ผิดศีลธรรมอันดีงามที่ศาสนาได้กำหนดไว้ ชีวิตหลังตาย ย่อมได้รับการลงโทษจากผลการกระทำของตนเองในนรกอย่างแน่นอน