ผี...ในมุมมองพุทธศาสนา

รากฐานทางความคิดที่ทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับผี มีอยู่ 3 แนวคิด คือ แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์มีลักษณะที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่สิ้นสุด ถ้าไม่สามารถจะทำให้เงื่อนไขของการเกิดสิ้นสุดได้ การที่บุคคลคนหนึ่งตายลง ไม่ถือว่า การตายนั้น เป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตตราบเท่าที่ยังมีกิเลส จะต้องมีการเกิดใหม่อีกเรื่อยไป ยกเว้นชีวิตของผู้กำจัดกิเลสให้หมดไปได้ แนวคิดลักษณะนี้ เรียกว่า สังสารวัฏ  มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1) ภูมิชั้นต่ำเลว มีทุกข์มาก มีอยู่ 4 ภูมิ คือ โลกนรก โลกเปรต โลกอสุรกาย โลกเดียรัจฉาน 2)  ภูมิชั้นกลางซึ่งเป็นภูมิชั้นดีมีสุขเป็นโลกีย์พอประมาณ มีอยู่ 7 ภูมิ คือ โลกมนุษย์  และเทวโลกชั้น 1- 6  3) ภูมิชั้นสูง ซึ่งเป็นภูมิดีมีสุขมาก มีอยู่ 20 ภูมิ คือ พรหมโลก ตั้งแต่ชั้นที่ 1-20   
                แนวคิดเกี่ยวกับกรรม พุทธศาสนายอมรับว่า  การกระทำแต่ละอย่างของทุกคนจะต้องได้รับผลตอบแทนด้วยตนเอง คนอื่นจะมารับผลของการกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำดีหรือทำชั่ว การให้ผลตอบแทน มีทั้งชาตินี้ และชาติหน้า แต่พุทธศาสนากล่าวเน้นหนักในชาติปัจจุบัน
แนวคิดเกี่ยวกับนรก พุทธศาสนายอมรับว่า เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงทั้งในลักษณะ ที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ส่วนที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ สถานที่ลงโทษหรือที่อยู่ของผู้ที่ทำกรรมชั่วทั้งที่มีชีวิตอยู่และหลังตายไปแล้ว ไม่ได้ระบุว่า อยู่ ณ สถานที่ใด ส่วน นรก ในความหมายที่เป็นนามธรรม คือสภาวะที่เร่าร้อน ทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ
แนวคิดเกี่ยวกับผี พุทธศาสนายอมรับว่า มีสัตว์จำพวกหนึ่งที่มีอำนาจลึกลับ สามารถ ให้คุณให้โทษกับมนุษย์ได้ คือ เปรต โอปปาติกะ มาร อสูร ยักษ์ และเทวดาชั้นต่ำ สัตว์เหล่านี้ เรียกว่า อมนุษย์  เมื่อวิเคราะห์จากคุณลักษณะของอมนุษย์ดังกล่าว ตรงกับคำว่า ผี ในสังคมไทย แต่พุทธศาสนามีท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอำนาจลึกลับว่าเป็นสิ่ง ที่พิเศษ หรือมีสถานะเหนือกว่ามนุษย์ ถ้ามนุษย์เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ก็สามารถจะมีสถานะ ที่เหนือกว่าอมนุษย์เหล่านี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามนุษย์ไม่มีคุณธรรมก็ตกอยู่ในสถานะที่ ต่ำกว่าอมนุษย์ เพราะพุทธศาสนาใช้เกณฑ์ทางคุณธรรมในการประเมินทั้งมนุษย์และอมนุษย์